พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward I of England) (17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307) หรือพระนามเดิมคือ เอ็ดเวิร์ด ลองแชงก์ส (อังกฤษ: Edward Longshanks) เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในราชวงศ์แพลนแทเจเนต
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 รู้จักกันในนามว่า “Longshanks” เพราะพระวรกายที่สูงราว 6 ฟุต 2 นิ้ว หรือ “ผู้พระราชทานกฎหมาย” (the Lawgiver) เพราะทรงเป็นผู้ปฏิรูปกฎหมายของอังกฤษ และ “ผู้ปราบชาวสกอต” (Hammer of the Scots) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ และพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์ ได้อภิเษกสมรสกับเอลินอร์แห่งคาสตีล และต่อมากับพระนางมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1272 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่บรัฟบายแซนด์ส คัมเบอร์แลนด์ อังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับชัยชนะต่อเวลส์และทรงพยายามปราบปรามสกอตแลนด์แต่ไม่สำเร็จ
แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จะเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่ 4 ที่มีพระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” หลังจาก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี แต่การลำดับนามเดียวกันด้วยตัวเลขเป็นประเพณีของชาวนอร์มัน ฉะนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสามพระองค์ที่ทรงปกครองอังกฤษก่อนหน้าการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันจึงมิได้รับการเรียงลำดับแต่ทรงใช้พระสมัญญานามเพื่อบ่งความแตกต่างของแต่ละพระองค์แทน เอ็ดเวิร์ด ลองแชงค์จึงกลายเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1
ในปี ค.ศ. 2002 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงได้รับเลือกเป็นลำดับ 94 ในบรรดาชาวอังกฤษ 100 คนที่ถือกันว่าสำคัญที่สุด[ต้องการอ้างอิง]
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนเมื่อค่ำวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 เป็นพระเชษฐาของมาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ เบียทริซแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งบริตตานีและเบอร์กันดี และเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ (Edmund Crouchback, 1st Earl of Lancaster) พระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” เป็นพระนามที่รับพระราชทานตามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี เพราะพระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาทรงเลื่อมใสลัทธิบูชานักบุญเอ็ดเวิร์ด เมื่อยังพระเยาว์พระองค์ทรงอยู่ในความดูแลของฮิวห์ กิฟฟาร์ด (บิดาของกอดฟรีย์ กิฟฟาร์ดผู้ต่อมาเป็นอัครมหาเสนาบดีและบิชอปแห่งวูสเตอร์) ระหว่างปี ค.ศ. 1239 จนกระทั่งกิฟฟาร์ดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1246 หลังจากนั้นบาร์โทโลมิว เพ็ค (Bartholomew Pecche) ก็รับหน้าที่แทน ในบรรดาพระสหายเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน (Henry of Almain) บุตรชายของริชาร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์พระอนุชาของพระเจ้าเฮนรี
ดินแดนผืนแรกที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับพระราชทานคือดินแดนแกสโคนี แต่ในปี ค.ศ. 1248 ปีหนึ่งก่อนหน้าที่จะพระราชทานให้กับพระเจ้าเฮนรีพระราชโอรส ทรงแต่งตั้งให้ไซมอนแห่งมอนฟอร์ต เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ที่ 6 (Simon de Montfort, 6th Earl of Leicester) ไปเป็นข้าหลวงที่แกสโคนีเป็นเวลาเจ็ดปี ฉะนั้นแม้ว่าเอ็ดเวิร์ดจะมีฐานะเป็นเจ้าของแกสโคนีแต่พระองค์ก็ไม่ทรงมีอำนาจและรายได้จากแกสโคนีแต่อย่างใด
ในปี ค.ศ. 1254 ทางอังกฤษวิตกว่าราชอาณาจักรคาสตีลจะรุกรานอาณาบริเวณแกสโคนีของอังกฤษ เพื่อเป็นการป้องกันจากการรุกรานพระเจ้าเฮนรีจึงทรงตกลงจัดให้พระราชโอรสเสกสมรสกับเอลินอร์แห่งคาสตีล ผู้ทรงเป็นกึ่งพระขนิษฐา (half-sister) ของพระเจ้าอัลฟองโซที่ 10 แห่งคาสตีลโดยมีข้อตกลงในการอภิเษกสมรสที่พระเจ้าอัลฟองโซทรงเรียกร้องว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดต้องทรงได้รับมอบดินแดนที่มีทำรายได้ 15,000 มาร์ค (น้ำหนัก) ต่อปี เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดขณะนั้นยังมีพระชนมายุได้ไม่ถึง 15 พรรษา แม้ว่าพระเจ้าเฮนรีจะพระราชทานสินสอดเป็นจำนวนพอสมควรแต่ก็มิได้พระราชทานความเป็นอิสระแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเท่าใดนัก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับดินแดนสำหรับการเสกสมรสที่รวมทั้งดินแดนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์และเวลส์ และดินแดนในอังกฤษเองที่รวมทั้งรัฐเอิร์ลเชสเตอร์ แต่พระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาก็ยังทรงกุมอำนาจในที่ดินที่พระราชทานแก่พระราชโอรสโดยเฉพาะในไอร์แลนด์ ฉะนั้นอำนาจของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงมีเพียงจำกัด
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสกับเอลินอร์แห่งคาสตีล (พระชนมายุ 13 พรรษา) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 ที่อารามซันตามารีอาลาเรอัลเดอูเอลกัส (Abbey of Santa Maria la Real de Huelgas) ในคาสตีล ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสธิดาด้วยกันอย่างน้อยสิบห้าหรือสิบหกพระองค์ การสวรรคตของพระนางเอลินอร์ในปี ค.ศ. 1290 เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงและเป็นที่โทมนัสต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นอันมาก พระองค์ถึงกับมีพระราชโองการให้สร้างกางเขนเอลินอร์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีทั้งหมดสิบสองอันในทุกที่ที่ขบวนแห่พระศพพักกลางคืนระหว่างที่เคลื่อนพระจากลิงคอล์นไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสอีกครั้งเมื่อพระชนมายุ 60 พรรษาที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1299 กับมาเกอรีตแห่งฝรั่งเศส (พระชนมายุ 17 พรรษา) ผู้รู้จักกันในพระนาม “ไข่มุกแห่งฝรั่งเศส” โดยประชาชนอังกฤษ มาเกอรีตเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (ฟิลิปผู้กล้าหาญ) และมาเรียแห่งบราบันต์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระนางมาเกอรีตมีพระราชโอรสธิดาด้วยกันสามพระองค์
ระหว่างปี ค.ศ. 1254 ถึงปี ค.ศ. 1257 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลฝักฝ่ายในราชสำนักที่รู้จักกันว่า “ซาวอยาร์ดส์” (Savoyards) ผู้เป็นพระญาติของพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์พระราชมารดา ผู้ที่เป็นผู้นำคนสำคัญของกลุ่มนี้คือปีเตอร์ที่ 2 แห่งซาวอยพระปิตุลาของพระราชินี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1257 เป็นต้นไปพระองค์ก็ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายปัวเตแวงหรือลูซิยอง – ผู้เป็นกึ่งพระอนุชาของพระองค์ – ที่นำโดยวิลเลียมแห่งวาเลนซ์ เอิร์ลแห่งเพมโบรคที่ 1 (William de Valence, 1st Earl of Pembroke) ทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มชาวต่างประเทศที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น จึงเป็นที่เกลียดชังและต่อต้านโดยชนชั้นปกครองของอังกฤษ
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเอลินอร์เสด็จกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1255 และทรงเริ่มแสดงความเป็นอิสระทางด้านการเมืองจากพระราชบิดามาตั้งแต่ปีนั้น โดยทรงเลือกข้างในกรณีความขัดแย้งในแกสโคนีซึ่งเป็นนโบายที่ตรงกันข้ามกับพระราชบิดาที่มักจะทรงใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1258 กลุ่มขุนนาง 58 คนที่ไม่มีความพอใจปกครองของรัฐบาลก็ร่างเอกสารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปต่อพระเจ้าเฮนรี – เอกสารที่รู้จักกันว่าบทบัญญัติอ็อกซฟอร์ด (Provisions of Oxford) – ที่ส่วนใหญ่เป็นคำร้องต่อต้านกลุ่มขุนนางเชื้อสายฝรั่งเศสลูซิยอง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงเข้าข้างลูซิยองและทรงเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อบทบัญญัติ แต่ขบวนการปฏิรูปประสบความสำเร็จ ความคิดเห็นของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็หันไปเป็นฝ่ายเดียวกับผู้นำการปฏิรูปริชาร์ด เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งกลอสเตอร์ (Richard de Clare, 6th Earl of Hertford) อย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็ทรงประกาศว่าทรงสนับสนุนจุดประสงค์ในการปฏิรูปของกลุ่มขุนนางและผู้นำซีมงแห่งมงฟอร์
เบื้องหลังของการเปลี่ยนพระทัยของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดอาจจะเป็นเพียงเพื่อหาผลประโยชน์เท่านั้น เพราะไซมอนแห่งมองฟอร์ตอยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนพระองค์ในเรื่องแกสโคนีได้ เมื่อพระเจ้าเฮนรีเสด็จไปฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็แข็งข้อโดยประทานตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ให้แก่ขุนนางฝ่ายปฏิรูป พระเจ้าเฮนรีทรงเชื่อว่าพระราชโอรสมีแผนที่จะโค่นราชบัลลังก์ของพระองค์ หลังจากที่เสด็จกลับอังกฤษพระองค์ก็ไม่ทรงยอมให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเข้าเฝ้า แต่ในที่สุดก็ทรงยอมเมื่อได้รับการไกล่เกลี่ยโดยเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์และบอนนิเฟสแห่งซาวอยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1260 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ถูกส่งตัวไปต่างประเทศ ซึ่งทำให้ทรงมีโอกาสได้ไปรวมตัวกับฝ่ายลูซิยองผู้ถูกเนรเทศกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง
เมื่อเสด็จกลับอังกฤษเมื่อต้นปี ค.ศ. 1262 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงมีความขัดแย้งกับพันธมิตรของพระองค์ทางด้านการเงิน ปีต่อมาพระองค์ก็นำกองทัพไปรณรงค์ในเวลส์เพื่อกำราบลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก ในขณะเดียวกันไซมอนแห่งมองฟอร์ตที่ออกไปจากอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1261 ก็กลับมาและมาฟื้นฟูขบวนการปฏิรูปของขุนนางขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าเฮนรีททรงยอมรับข้อเรียกร้องของขุนนางแต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด – ผู้หันมาเข้าข้างพระราชบิดา – ไม่ทรงยอมและหันกลับไปเข้ากับฝ่ายที่พระองค์เป็นปฏิปักษ์ในปีก่อนหน้านั้น – ที่ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน และจอห์นแห่งวอเรน เอิร์ลแห่งเซอร์รีย์ที่ 7 – และทรงเข้ายึดพระราชวังวินด์เซอร์คืนจากกลุ่มผู้ปฏิวัติ ทั้งสองฝ่ายจึงอัญเชิญให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสทรงเป็นตุลาการในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่นำมาซึ่งข้อตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงอาเมียง” (Mise of Amiens) โดยฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายได้เปรียบอันเป็นการปูรากฐานไปสู่ความขัดแย้งครั้งต่อไป
ระหว่างปี ค.ศ. 1264 ถึงปี ค.ศ. 1267 เป็นช่วงระยะเวลาของสงครามขุนนาง (Barons' War) ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุนนางที่นำโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต และฝ่ายผู้สนับสนุนของพระเจ้าเฮนรี ยุทธการครั้งแรกเกิดขึ้นที่กลอสเตอร์ ซึ่งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดคืนได้จากฝ่ายศัตรู แต่เมื่อโรเบิร์ต เดอ เฟอร์เริร์ส เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ 6 (Robert de Ferrers, 6th Earl of Derby) ยกกำลังมาสนับสนุนผู้ก่อการ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเจรจาสงบศึกกับเอิร์ลแห่งดาร์บีซึ่งต่อมาพระองค์ก็ทรงละเมิดสัญญาสงบศึกนี้ จากนั้นเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จนำทัพไปยึดนอร์แธมป์ตันคืนจากซีมงที่ 6 เดอ มงฟอร์บุตรของซีมง เดอ มงฟอร์ ก่อนที่จะเสด็จไปตอบโต้การรณรงค์ในบริเวณดาร์บีของฝ่ายตรงข้าม ในที่สุดฝ่ายขุนนางและฝ่ายกษัตริย์ก็ปะทะกันในยุทธการหลุยส์ (Battle of Lewes) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1264 แม้ว่ากองทัพของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ก็ทรงได้รับความพ่ายแพ้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเฮนรีแห่งอัลเมนถูกจับเป็นเชลยโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงถูกนำตัวไปจำขังอยู่จนเดือนมีนาคมและแม้หลังจากการทรงถูกปลดปล่อยแล้วก็ยังคงถูกควบคุมทุกฝีก้าว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พระองค์ก็ทรงหลบหนีไปกับผู้คุมและไปสมทบกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งฮาร์ตฟอร์ด (Gilbert de Clare, 7th Earl of Hertford) ผู้ที่เพิ่งหันมาสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์เพียงไม่นานก่อนหน้านั้น ในขณะเดียวกันฝ่ายมงฟอร์ก็มีผู้สนับสนุนน้อยลงจนทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดวูสเตอร์และกลอสเตอร์คืนได้อย่างง่ายดาย มงฟอร์จึงหันไปเป็นพันธมิตรกับเลเวลินคนสุดท้ายและเริ่มนำทัพไปทางตะวันออกไปสมทบกับซีมงที่ 4] บุตรชาย เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสามารถจู่โจมฝ่ายมอนฟอร์ตโดยไม่รู้ตัวที่ปราสาทเค็นนิลเวิร์ธ (Kenilworth Castle) เมื่อไซมอนที่ 4 จนมุมก่อนที่จะถูกตัดออกจากกำลังของไซมอนแห่งมอนฟอร์ต กองกำลังทั้งสองจึงประจันหน้ากันเป็นครั้งที่สองซึ่งเป็นยุทธการใหญ่ของสงครามขุนนางในยุทธการอีฟแชม (Battle of Evesham) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ไม่มีหนทางที่จะต่อสู้กับกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าได้และในที่สุดก็พ่ายแพ้ ถูกสังหารและย่ำยีกลางสนามรบ
หลังจากการเสียชีวิตของซีมงสงครามก็ยังไม่ยุติลง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยังทรงดำเนินการรณรงค์ต่อไป เมื่อมาถึงคริสต์มัสพระองค์ก็ทรงทำข้อตกลงกับซีมงที่ 4 และผู้สนับสนุนที่ไอล์ออฟแอ็กซ์โฮล์ม (Isle of Axholme) ในลิงคอล์นเชอร์ และในเดือนมีนาคมพระองค์ก็สามารถโจมตีบริเวณบริเวณห้าเมืองท่า (Cinque Ports) ในบริเวณเค้นท์และซัสเซ็กส์ได้สำเร็จ ฝ่ายข้าศึกถอยเข้าไปยึดที่มั่นไว้ในปราสาทเค็นนิลเวิร์ธซึ่งเป็นปราสาทที่ยากโจมตี ฝ่ายก่อการที่ยึดปราสาทไว้ไม่ยอมแพ้จนกระทั่งมีการร่างสัญญาประนีประนอมที่เรียกว่าข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธ (Dictum of Kenilworth) ในเดือนเมษายน ส่วนบรรยากาศทั่วไปทางด้านอื่นก็ดูเหมือนว่ากลอสเตอร์จะร่วมก่อการปฏิรูปขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจจะทำให้เกิดสงครามขึ้นอีก แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันในข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธได้ สถานการณ์ที่คุกรุ่นก็ราลง แต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้ทรงมีส่วนในการเจรจาตกลงครั้งนี้เท่าใดนักเพราะมัวแต่ทรงหันไปหมกมุ่นกับการวางแผนการเดินทางไปเข้าร่วมการทำสงครามครูเสดที่จะมาถึง
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1268 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพร้อมกับเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระอนุชาและเฮนรีแห่งอัลเมนพระญาติทรงรับกางเขนในพิธีการออกสงครามที่ใหญ่โตหรูหรา ในบรรดาผู้ร่วมพิธีก็มีผู้เป็นศัตรูเก่าเช่นเอิร์ลแห่งกลอสเตอร์ แต่ที่ในที่สุดกลอสเตอร์ก็ไม่ได้ไปสงคราม เมื่อบ้านเมืองราบคาบลงปัญหาเดียวในการเข้าร่วมสงครามคือการขาดทุนทรัพย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงเป็นผู้นำในการสงครามครั้งนี้ทรงให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยืมทุนทรัพย์สำหรับการทำสงครามเป็นจำนวนประมาณ 17,500 ปอนด์ ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอ ก้อนที่เหลือได้มาจากการเก็บภาษีฆราวาส (Laity) ซึ่งไม่ได้บังคับใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1237 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1270 รัฐสภาก็อนุมัติการเก็บ “ภาษีหนึ่งในยี่สิบ” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวได้เช่นสัตว์เลี้ยงเป็นอัตราร้อยละห้า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการทรงยอมรับ “มหากฎบัตร” โดยพระเจ้าเฮนรีอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังอนุมัติกฎจำกัดสิทธิของธุรกิจการยืมเงินของชาวยิวด้วย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จลงเรือจากโดเวอร์เพื่อเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่ากองกำลังที่ทรงนำไปด้วยมีจำนวนเท่าใด แต่ประมาณกันว่าคงทรงนำอัศวินราว 225 คนพร้อมทั้งทหารที่รวมด้วยกันทั้งหมดแล้วก็คงไม่เกินกว่า 1,000 คน
จุดประสงค์แรกของการเดินทางไปสงครามก็เพื่อไปช่วยกองทัพคริสเตียนที่ถูกล้อมอยู่ในที่มั่นที่เอเคอร์ในราชอาณาจักรเยรูซาเลม แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงหันทัพไปทางทูนิสทางแอฟริกาตอนเหนือก่อน พระเจ้าหลุยส์และพระอนุชาชาร์ลแห่งอ็องฌูผู้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี ตกลงกันโจมตีอีเมียร์ (emir) ทางเหนือของแอฟริกาเพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในบริเวณตอนเหนือของแอฟริกา แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จและต้องเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาดรวมทั้งพระเจ้าหลุยส์เองก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงทูนิส พระเจ้าชาร์ลส์ (ชาร์ลส์แห่งอองชู) ก็ได้ไปทรงลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับอีเมียร์เรียบร้อยไปแล้ว การเดินทางไปสงครามครูเสดของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงถูกเลื่อนไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา แต่พายุร้ายนอกฝั่งซิซิลีทำให้พระเจ้าชาร์ลส์และพระเจ้าฟิลลิปที่ 3 (ผู้ครองฝรั่งเศสต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์) ทรงเปลี่ยนพระทัยในการเดินหน้าต่อไปทำสงคราม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงทรงตัดสินพระทัยเดินทัพต่อไปเพียงพระองค์เดียวและเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1271 พระองค์ก็ขึ้นฝั่งที่เอเคอร์
สถานการณ์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงเป็นสถานการณ์ที่ออกจะเปราะบาง เยรูซาเลมเสียเมืองไปแล้วในปี ค.ศ. 1187 เอเคอร์กลายเป็นศูนย์กลางสุดท้ายที่เหลือของราชอาณาจักรเยรูซาเลมที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของคริสเตียน ประเทศกลุ่มอิสลามโดยนำของ ไบบาร์ส (Baibars) แห่งราชวงศ์บาหรี (Bahri dynasty) อยู่ในฐานะได้เปรียบ และดูจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเอเคอร์ แม้ว่ากองทัพของพระองค์จะเป็นส่วนสำคัญในการเป็นกองหนุนให้เอเคอร์แต่ก็เป็นกองกำลังที่เสียเปรียบต่อกองทัพที่มีพลานุภาพมากกว่าของไบบาร์ส ความพยายามที่จะจู่โจมเซนต์จอร์จเดอเลอเบนย์ (St Georges-de-Lebeyne) ที่ไม่ไกลจากเอเคอร์ในเดือนมิถุนายนก็ประสบความล้มเหลว การโจมตีของมองโกลที่อเล็พโพ (Aleppo) ในซีเรียทางตอนเหนือทำให้เสความสนใจจากเอเคอร์ของกองทัพฝ่ายอิสลามอยู่ระยะหนึ่ง ในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงบุกเข้าปล้นสะดมคาคุน (Qaqun) ของฝ่ายมุสลิม ซึ่งถ้ายึดได้ก็อาจจะใช้เป็นที่มั่นสำหรับการยึดกรุงเยรูซาเลมคืนได้ แต่ทั้งการรุกรานของฝ่ายมองโกลและการรุกรานคาคุนของพระองค์ต่างก็ล้มเหลว สถานการณ์จึงเลวร้ายลงตามลำดับ ฉะนั้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1272 ฮิวจ์ที่ 3 แห่งไซปรัส (Hugh III of Cyprus) ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรเยรูซาเลมเพียงในนามก็ทรงยอมลงพระนามในสัญญาสงบศึกสิบปีกับไบบาร์ส เมื่อเริ่มแรกเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ทรงยอมรับสัญญานี้ แต่หลังจากที่ทรงถูกลอบทำร้ายโดยนักลอบสังหาร (assassin) ชาวมุสลิมในเดือนมิถุนายนแล้ว พระองค์ก็ทรงจำต้องยอมหยุดยั้งการรณรงค์ต่อไปแม้ว่าจะทรงสังหารนักลอบสังหารได้ก็ตาม จากการลอบทำร้ายครั้งนี้ทำให้ทรงได้รับบาดเจ็บที่พระกรโดยกริชอาบยาและทรงได้รับบาดเจ็บต่อมาอีกหลายเดือนหลังจากนั้น
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้เสด็จออกจากเอเคอร์จนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน และไม่ได้ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปีก่อนหน้านั้นจนกระทั่งเมื่อเสด็จไปถึงซิซิลี แม้ว่าจะทรงมีความโทมนัสสูญเสียแต่มิได้ทำให้ทรงรีบเสด็จกลับอังกฤษในทันที แต่กลับทรงค่อยๆ เสด็จเดินทางขึ้นไปทางเหนือของยุโรปอย่างสบายๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพลานามัยยังอ่อนแออยู่ หรืออาจจะทรงมีความคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนก็ได้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษขณะนั้นอยู่ในสภาพที่มั่นคงหลังการความไม่สงบต่างๆ ในกลางคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการประกาศให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทันทีหลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแทนที่จะรอประกาศจนเมื่อได้ทำการสวมมงกุฎพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเช่นในอดีต การประกาศทันทีจึงกลายมาเป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่บัดนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับอังกฤษทางแผ่นดินโดยเสด็จผ่านอิตาลีและฝรั่งเศส ขณะที่เสด็จผ่านกรุงโรมพระองค์ก็เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา และเมื่อผ่านฝรั่งเศสก็ทรงถือโอกาสปราบปรามการก่อความไม่สงบในแกสโคนีไปด้วย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1274 และทรงเข้าทำพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม
เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3เสด็จสวรรคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกำลังทำสงครามครูเสดอยู่ทางตะวันออก แต่ทรงมาได้ข่าวการสวรรคตที่ซิซิลีเมื่อพระองค์เสด็จกลับจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว
ในระยะแรกเอ็ดเวิร์ดมีพระประสงค์ที่จะใช้นาม “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4” ตามพระนามกษัตริย์แซ็กซอนสามพระองค์ที่ปกครองอังกฤษก่อนหน้านั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม พระองค์มารู้จักกันในพระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” โดยไม่มีลำดับตัวเลข เมื่อพระราชโอรสที่มีพระนามเดียวกันขึ้นเสวยราชย์ก็ทรงใช้พระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” และ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” จึงกลายเป็น “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ซึ่งเป็นการริเริ่มการลำดับหมายเลขหลังพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษในปี ค.ศ. 1066 เป็นต้นมา แม้ว่าพระนาม “เอ็ดเวิร์ด” จะเป็นพระนามที่ใช้ทั้งก่อนและหลังจากนอร์มันได้รับชัยชนะก็ตาม
พระราชกรณีกิจชิ้นแรกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดคือการทำสงครามเพื่อยึดครองเวลส์ หลังจากสงครามขุนนางแล้วลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) ก็ฉวยโอกาสภายใต้สนธิสัญญามอนต์กอมรีในปึ ค.ศ. 1267 ในการขยายดินแดนไปทางใต้จนไปถึงดินแดนดินแดนมาร์ชเวลส์ (Welsh Marches) ที่เป็นของอังกฤษและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าลูวเวลลินคือเจ้าชายแห่งเวลส์ แม้ว่าจะยังสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวที่พระราชบิดาได้ทรงลงนามไว้ และในปี ค.ศ. 1275 โจรสลัดของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยับยั้งเรือที่นำเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ตธิดาของไซมอนแห่งมอนฟอร์ตจากประเทศฝรั่งเศสไปยังเวลส์เพื่อจะไปแต่งงานกับลูวเวลลินกริฟฟุด และทรงจำขังเอเลเนอร์ไว้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ หลังจากที่ลูวเวลลินกริฟฟุดไม่ยอมเข้ามาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ในฐานะเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1274 และปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงรวบรวมกองทัพเพื่อยกไปปราบปรามลูวเวลลินกริฟฟุดในเวลส์เป็นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1276 จนถึงปี ค.ศ. 1277 หลังจากที่พ่ายแพ้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแล้วลูวเวลลินกริฟฟุดก็ถูกบังคับให้แสดงความสวามิภักดิ์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยึดดินแดนต่างๆ ที่กริฟฟุดยึดไปคืน นอกจากดินแดนเพียงเล็กน้อยที่กุนนาร์ด แต่ทรงยอมให้รักษาตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ไว้และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้แต่งงานกับเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ต
ในปี ค.ศ. 1282 ดาฟุดกริฟฟุดน้องชายของลูวเวลลินกริฟฟุดที่เคยเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอยู่ระยะหนึ่งเริ่มแข็งข้ออีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปราบปรามได้สำเร็จ และทรงจับดาฟุดกริฟฟุดมาทรมานและประหารชีวิตในปีต่อมา หลังจากนั้นก็ทรงก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตหลายแห่งตามชายแดนรอบอังกฤษและในเวลส์เองเพื่อป้องการการแข็งข้อของเวลส์
ราชรัฐเวลส์จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษภายใต้พระราชบัญญัติรัดด์แลนในปี ค.ศ. 1284 และในปี ค.ศ. 1301 นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์โตขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ซึ่งกลายมาเป็นประเพณีที่เป็นตำแหน่งสำหรับพระราชโอรสองค์โตของพระมหากษัตริย์อังกฤษเกือบทุกพระองค์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ยกเว้นแต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3
หลังจากที่ทรงกำราบเวลส์ได้สำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงหันมาทางสกอตแลนด์ ทรงตั้งพระทัยจะจัดการเสกสมรสพระราชโอรสองค์โตกับมาร์กาเร็ตแห่งสกอตแลนด์ แต่มาร์กาเร็ตมาเสียชีวิตเสียก่อนโดยไม่มีผู้สืบเชื้อสายที่เห็นได้ชัด คณะผู้ดูแลสกอตแลนด์ (Scottish Guardians) จึงอัญเชิญให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะเป็นผู้สืบราชสมบัติสกอตแลนด์ต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามแย่งราชสมบัติกันในสกอตแลนด์ แต่ก่อนที่จะมีความคืบหน้าแต่อย่างใด พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเรียกร้องให้สกอตแลนด์แต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” (Lord Paramount of Scotland) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชอาณาจักร หลังจากการต่อต้านในระยะแรกสกอตแลนด์ก็ยอมรับข้อเรียกร้องของพระองค์
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นประธานในศาลขุนนางที่ประชุมกันที่ปราสาทเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1292 ที่ตัดสินสนับสนุนจอห์นแห่งสกอตแลนด์ (จอห์น บาลลิโอล) ผู้ที่มีสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าผู้อื่น หลังจากที่จอห์นแห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชย์แล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงใช้ตำแหน่ง “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” ในการลดอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่โดยทรงเรียกตัวบาลลิโอลมาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1293 นอกจากนั้นก็ยังทรงแสดงพระประสงค์ให้จอห์นสนับสนุนพระองค์ทั้งทางการเงินและทางการทหารในการต่อสู้กับฝรั่งเศส บาลลิโอลไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องข้อหลังนี้ได้และหันไปทำสัญญากับฝรั่งเศสและเตรียมตัวรุกรานอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตอบโต้โดยนำกองทัพที่ประกอบด้วยทหาร 25,000 คนเข้าทำลายเมืองเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีด และสังหารประชาชนไปราว 11,000 คนซึ่งเป็นประชาชนเกือบทั้งเมือง ระหว่างการรณรงค์ในสกอตแลนด์พระองค์ก็ทรงใช้เครื่องมือยิงหินที่เรียกว่า “วอร์วูลฟ” (Warwolf) อย่างแพร่หลาย
หลังจากที่ทรงยึดเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดได้แล้ว พระองค์ก็ทรงเดินทัพต่อไปยังดันบาร์และเอดินบะระห์และทรงนำหินแห่งสโคน (Stone of Scone) จากเพิร์ธลงมายังแอบบีเวสต์มินสเตอร์ จอห์นแห่งสกอตแลนด์สละราชสมบัติและถูกจำขังในหอคอยแห่งลอนดอนอยู่สามปีก่อนที่จะเดินทางไปลี้ภัยพำนักอยู่ในฝรั่งเศส เจ้าของที่ดินอิสระทั้งหมดในสกอตแลนด์ถูกบังคับให้สาบานความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปกครองสกอตแลนด์เช่นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษที่นำโดยอุปราชอังกฤษ
กลุ่มการต่อต้านในสกอตแลนด์ก็เริ่มก่อตัวขึ้น (ดูสงครามอิสรภาพสกอตแลนด์) ในบรรดาการต่อต้านพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประหารชีวิต วิลเลียม วอลเลซ เมื่อวันที่ 23 สืงหาคม ค.ศ. 1305 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อวอลเลซที่ศึกฟอลเคิร์ค ในปี ค.ศ. 1298
ในบั้นปลายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสูญเสียพระราชินีเอเลเนอร์แห่งคาสตีลพระชายา และรัชทายาทก็ไม่ทรงมีบุคลิกของผู้นำที่เห็นได้ชัดตามพระราชประสงค์ พระประสงค์ที่จะปราบสกอตแลนด์ให้ราบคาบในขณะที่ยังทรงมีชีวิตอยู่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่เบอร์หบายแซนด์สในคัมเบอร์แลนด์ไม่ไกลจากเขตแดนสกอตแลนด์ขณะที่ทรงเดินทัพไปรณรงค์กลุ่มผู้ต่อต้านอีกกลุ่มหนึ่งในสกอตแลนด์ภายใต้การนำของโรเบิร์ต บรูซ ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระราชประสงค์ที่จะให้กองทัพคงดำเนินการต่อไปหลังจากการเสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยนำพระอัฐิของพระองค์ไปด้วยและให้นำพระหทัยของพระองค์ไปฝังไว้ที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ และทรงบรรจุพระบรมศพของพระราชบิดาไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ภายในโลงตะกั่วเรียบๆ ที่ต่อมาจารึกด้วยคำว่า “Scottorum malleus” หรือ “ผู้ปราบชนสกอต” รอเวลาที่จะเปลี่ยนเป็นโลงทองเมื่อสกอตแลนด์ถูกปราบปรามสำเร็จและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1774 เมื่อสมาคมโบราณคดีแห่งลอนดอนเปิดโลงพระศพก็พบว่าพระวรกายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังอยู่ในสภาพดีไม่เน่าเปื่อยมาเป็นเวลา 467 ปี ร่างของพระองค์ยังนอนอยู่ในโลงตะกั่วเดิมแม้ว่าราชบัลลังก์สกอตแลนด์จะรวมตัวกับราชบัลลังก์อังกฤษในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต การรวมตัวเป็นสหภาพระหว่างสองอาณาจักรมาสำเร็จตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ในชื่อว่าราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์
ไม่เช่นพระเจ้าเฮนรีที่ 3พระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงมีความสนพระทัยในระบบการปกครองของรัฐบาลและทรงริเริ่มการปฏิรูปหลายด้านเพื่อให้อำนาจในการปกครองของรัฐบาลและการบริหารมาตกอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์มากขึ้น รัฐสภาเริ่มมีการประชุมอย่างเป็นปกติมากขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แม้จะยังมีอำนาจในการเก็บภาษีอย่างจำกัดแต่ก็ยังทรงได้รับการขยายอำนาจในการเก็บภาษีของพระองค์ได้กว้างขึ้นกว่าในรัชสมัยของพระราชบิดา
หลังจากที่เสด็จกลับจากสงครามครูเสดครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 1274 แล้วก็มีการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิดในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดการบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน (Hundred Rolls) ในปี ค.ศ. 1275 รายละเอียดของพระราชบัญญัติเป็นการเริ่มลดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบระหว่างการสืบสวนทำให้เกิดพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1275 พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ฉบับแรกก็ได้รับการอนุมัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน พระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกันก็ได้รับอนุมัติต่อมาเรื่อยจนโรเบิร์ต เบอร์เนลล์ที่ปรึกษาคนสนิทของพระองค์เสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1292
ในปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกบทกฎหมายจำกัดสิทธิชาวยิว (Statute of the Jewry) ซึ่งบ่งกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ที่มีผลต่อชนยิวในอังกฤษ ข้อที่เด่นก็ได้แก่การระบุว่าธุรกิจการกู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยสูงเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หรือชนยิวต้องติดเครื่องหมายเหลืองบนเสื้อนอก
ในปี ค.ศ. 1290 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกพระราชกฤษฎีกาขับไล่ชาวยิว (Edict of Expulsion) ซึ่งระบุไล่ชาวยิวทั้งหมดออกจากอังกฤษ ระหว่างการประหัตประหารชนยิว พระองค์ก็มีพระราชโองการจับหัวหน้าชนยิวกว่า 300 คนไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนก่อนที่มีพระราชโองการให้ประหารชีวิต นอกจากนั้นก็ยังมีไล่เข่นฆ่าชาวยิวที่พบตามบ้านเรือนและยังทรงยึดทรัพย์สินของชนยิวด้วย
สาเหตที่ทรงออกพระราชกฤษฎีกายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเพราะข่าวลือที่เริ่มจะหนาหูที่กล่าวหาว่าชนยิวเที่ยวไล่จับเด็กคริสเตียนฆ่าเพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนา และเฉพาะในกรณีของไอแซ็คแห่งพูเลท์ผู้ถูกจับในข้อหาว่าฆ่าเด็กคริสเตียนที่อ็อกซฟอร์ด อีกเหตุผลหนึ่งกล่าวว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงิน แม้ว่าการให้กู้เงินจะเป็นอาชีพที่แพร่หลายในหมู่ชนยิวและบางครั้งก็มีการกล่าวหาว่าเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าเหตุ แต่อาชีพนี้ก็มิได้เป็นอาชีพที่ทำเงินได้มากเท่าใดนักเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระองค์ (ชาวยิวถูกเก็บภาษีอย่างสูงในสมัย พระเจ้าจอห์น และในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 พระราชบิดา) นอกจากนั้นก่อนปี ค.ศ. 1292 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการหนุนหลังทางการเงินอย่างพอเพียงจากเฟรสโกบาลดี (Frescobaldi) ซึ่งเป็นบริษัทการเงินของอิตาลี ซึ่งทำให้เหตุผลหลังนี้เป็นไปได้ยาก แต่สาเหตุที่มีเหตุผลที่สุดก็น่าจะเป็นการที่ทรงได้รับเงินหนุนหลังจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากชนยิวขณะเดียวกับที่บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างผ่อนปรนระหว่างผู้ต่างศาสนาก็เริ่มลดลงหลังจากการประชุมสภาบาทหลวงแห่งแลตเตอรันครั้งที่ 4 (Fourth Lateran Council) ในปี ค.ศ. 1215 นอกจากนั้นเราก็ยังควรเข้าใจว่าการขับไล่ชนยิวมิได้เกิดเฉพาะแต่ในอังกฤษแต่เป็นบรรยากาศของการต่อต้านชนยิวที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรปในคริสต์ศตวรรที่ 13 เช่นในกรณีที่ฝรั่งเศสขับไล่ชาวยิวจากเมืองทุกเมือง และพระราชมารดาของพระองค์เองพระราชินีเอเลเนอร์ก็มีคำสั่งไล่ชนยิวออกจากพรอวองซ์ในปี ค.ศ. 1275
* เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กด้วย • ? เป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ด้วย • ? เป็นพระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์ด้วย • เป็นพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ด้วย • เป็นสตัดเฮาเดอร์ด้วย